Translate

บันทึกการเดินทาง "เเบกเป้เดินป่าลัดเลาะลุ่มน้ำคลองชมภู"

บันทึกการเดินทาง "เเบกเป้เดินป่าลัดเลาะลุ่มน้ำคลองชมภู"
มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังอีกแล้วครับ ครั้งก่อนเดินป่า นอนนับดาว สัมผัสลมหนาวที่ทุ่งโนนสน วันนี้จะมาเล่าเรื่องเเบกเป้เดินป่าลัดเลาะลุ่มน้ำคลองชมภู เพื่อศึกษาชีวภาพทางธรรมชาติ ณ วังปืนลุ่มน้ำคลองชมภู ที่นี่มีอะไรมากมายให้เราได้ศึกษาค้นคว้า ทำไมกลุ่มเราถึงต้องมาที่นี่?

เริ่มต้นการเดินทาง
ผลต่อเนื่องจากการที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ได้มีการประชุม 4 DNA การพัฒนาพิษณุโลกแบบยั่งยืน ให้ทุกอำเภอไปค้นหาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเอง แล้วมาถอดรหัสช่วยกัน ร่วมกันค้นหาจุดเด่นของแต่ละตำบลแต่ละชุมชน เพื่อพัฒนาจุดเด่นของแต่ละชุมชนให้โดดเด่นและยั่งยืนต่อไป

โดยการสำรวจธรรมชาติลุ่มน้ำคลองชมภูครั้งนี้ นำทีมโดยท่านสมชาย ตรีณาวงษ์ นายอำเภอเนินมะปราง และนายบุญชนะ คลองภูเขียว นายก อบต.ชมพู พร้อมด้วยห้วหน้าส่วน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ตำบลชมพู เข้าร่วมเดินทางศึกษาธรรมชาติร่วมกัน โดยมีกลุ่มพี่ๆน้องๆ "เที่ยวไทยไปชมภู" ให้การต้อนรับ

 จัดเตรียมสถานที่อำนวยความสะดวกทุกอย่าง ตลอดจนเล่าเรื่อง บรรยายประวัติความเป็นมาของแต่ละสถานที่ให้ผู่ร่วมเดินทางได้รู้และเข้าใจเรื่องราวเป็นอย่างดี

เดินทางจากป่ากะซาวไปวังปืน
หลังจากข้ามลำธารป่ากะซาวทุกคนต้องเดินเท้าไปยังจุดพักที่วังปืน ซึ่งมีหลายๆท่านเดินทางไปรอล่วงหน้าแล้ว ถึงตรงนี้อากาศเริ่มมืดระยะทางที่ต้องเดินเท้าประมาณ ๓ กม. เป็นประสบการณ์เดินป่ากลางคืนครั้งแรกในชีวิต





มันก็จะตื่นเต้นได้อารมณ์ไปอีกแบบ ระหว่างเดินเท้าพี่บุญสืบจากกลุ่มเที่ยวไทยไปชมภูก็จะเล่าเรื่องราว ประวัติของแต่ละสถานที่ที่เราก้าวย่างผ่านมา เราใช้เวลาเดินเท้าน่าจะเกืบชั่วโมงก็มาถึงวังปืน ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายเดี๋ยวมาเล่าให้ฟังต่อครับ

ที่วังปืน
หลังจากใช้เวลาราวๆหนึ่งชั่วโมง เดินเท้าจากป่ากะซาวมายังวังปืนระยะทางประมาณ ๓ กม. ก็มาถึงวังปืน พบว่ามีที่พักที่กางเต้นท์ ซึ่งทางกลุ่มเที่ยวไทยไปชมภูจัดเตรียมสถานที่ไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นเกาะกลางลำธาร ซึ่งก็ดูว่าอย่างน้อยก็ปลอดภัยจากสัตว์ป่าได้ สถานที่บริเวณนี้จะมีช้างป่าอยู่หลายตัว ซึ่งการนอนตรงเกาะกลางลำธารในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าแล้งจะปลอดภัยกว่าการนอนกลางป่าครับ
พอมาถึงต่างคนต่างจัดแจงหามุมกางเต๊นท์ จากนั้นก็มานั่งทานอาหารเย็นร่วมกันริมลำธาร ทานอาหารและพูดคุยกันได้พักใหญ่ทางกลุ่มเที่ยวไทยไปชมภูก็ได้เชิญให้ไปดูวิถีชีวิตและการยังชีพในป่า ซึ่งจะสาธิตวิธีการจับปลาตอนกลางคืนให้เราดู เพราะชาวบ้านหมู่ ๑ หมู่ ๓ ตลอดจนหมู่บ้านที่มีคลองชมภูไหลผ่าน จะอาศัยหาปลาจากลำคลองแห่งนี้ ผมก็เดินเท้าเปล่าตามกลุ่มคณะไป คิดว่าไปไม่ไกล แต่ที่ไหนได้พาผมเดินป่าตอนกลางคืนไปอีก สองกิโลกว่าๆ แถมไม่มีรองเท้าเดินเท้าเปล่ามาด้วย ตายๆๆ

สาธิตการจับปลาในเวลากลางคืน
ไปถึงจุดที่จะสาธิตการจับปลาในเวลากลางคืน ผมจำชื่อไม่ได้ว่าเขาเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าอะไร รู้แต่ว่าที่นี่สวยมาก เพราะมีโขดหินขนาดใหญ่อยู่ข้างลำธาร ผมอยากจะกางเต๊นท์นอนมุมนี้เลย หลังทีมสาธิตเตรียมอุปกรณ์พร้อมซึ่งมีแว่นกันน้ำ ไฟฉายแล้วก็อุปกรณ์การจับปลา

ผมก็นั่งรออยู่บนโขดหิน เขาดำน้ำได้ไม่ถึง ๑ นาที ก็ได้ปลาตัวแรกมาโชว์ให้พวกเราดู แปปเดียวก็ได้ปลามากพอสำหรับไว้ทำอาหารเช้าสำหรับพวกเราทุกๆคนที่มา ผมต้องเดินเท้าเปล่ากับมาที่พัก มาถึงเต๊นท์เท้าระบมพร้อมกับหนาม ๓-๔ อัน ทิ่มอยู่ในเท้า ที่นี่ตอนดึกๆอากาศหนาวมากๆๆ นอนขดตัวงอจนถึงเช้า ช่วงเช้าๆก็ออกมาหาถ่ายรูปสำรวจบริเวณรอบที่พักเพราะเมื่อคืนมาถึงมืด เช้าๆเลยออกสำรวจ
ที่นี้มีบริเวณกว้างมากมีทั้งโขดหินขนาดใหญ่เล็กมากมาย และ"มีดอกศิลาวารีขึ้นมากมาย"ตรงบริเวณที่มีน้ำไหล สายๆทุกคนก็เก็บสัมภาระกลับบ้าน ขากลับเราจะแวะตามจุด Check in ต่างๆระหว่างทาง

บ่อเกลือและเนินกระเบื้อง
ที่ตรงนี้จะเป็นลำธารเล็กๆไหลผ่าน แต่น้ำจะมีรสชาติเค็ม ที่นี่ก็จะมีสัตว์หลายชนิดมากินน้ำกัน ต่อจากนั้นก็มาเจอบ่อเคี่ยวเกลือ
แต่ละสถานที่ก็จะมีประวัติและเรื่องเล่าของความเป็นมาแต่ละสถานที่ จากการเดินทางสำรวจในครั้งนี้เราได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าและป่าไม้ และยังมีอีก ๒ อย่างที่อันซีนที่สุดของที่นี่คือ

ดอกไม้หิน
ดอกไม้น้ำ หรือดอกศิลาวารี ดอกไม้ที่หาพบยากที่สุดในโลก
อีกหนึ่งชนิดคือ

จระเข้น้ำจืด
สิ่งดีๆที่เรามี เราควรรักษาดูแลเขาให้ดีๆด่วยเช่นกันครับ

สำหรับท่านใดจะเข้าไปชมดอกศิลาวารี กรุณาติดต่อทาง เจ้าหน้าที่ (สล.12) หรือกลุ่มเที่ยวไทยไปชมภู จะสะดวกและปลอดภัยจากอันตรายจากสัตว์ป่าที่สุดครับ
ฝากเตือนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวชมดอกศิลาวารีหรือไปเล่นน้ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดครับขยะที่ท่านนำไปกรุณานำกลับมาทิ้งที่บ้านด้วยนะครับ
พิกัดแสดงแผนที่จุดเริ่มต้นของการเดินทาง
บันทึกการเดินทาง "เเบกเป้เดินป่าลัดเลาะลุ่มน้ำคลองชมภู"
โดยนายพิษณุชัย ทรงพุฒิ
17 ธันวาคม 2560